บันทึกช่วยจำเรื่องมานิ วันท้ายกลุ่มบ้านคีรีวง ทุ่งหว้า จังหวัดสตูล; Najib Ibn Ahmad
- Orang Asli Thailand
- 25 ธ.ค. 2566
- ยาว 1 นาที
มานิกลุ่มนี้เข้าถึงสะดวกกว่ากลุ่มอื่น ๆ ที่ฉันไปเมื่อก่อนหน้านี้ จากถนนลาดยางสามารถขับรถขับเคลื่อนสี่ล้อหรือขับเคลื่อนทุกล้อไปตามถนนลูกรังที่มีร่องรอยการใช้รถ Bulldozer ทำทางเข้าไปยังทับของมานิกลุ่มนี้
.
สภาพโดยรอบของการตั้งถิ่นฐานนั้นคงเหมือนหรือไม่ต่างมากนักกับมานิในป่า ที่จริงฉันไม่เคยเห็นสภาพการตั้งเรือนของมานิในป่าลึกมาก่อน จึงไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นไปตามจินตนาการของฉันหรือเปล่า แต่หากเทียบกับโอรังอัสลีจาไฮในป่าฮาลาบาลาก็คล้ายกันในเรื่องวัสดุสร้าง "ฮายะ(ทับ)" การเลือกทำเลที่ลาดเอียง ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ ต่างกันที่ฮายะของจาไฮจะอยู่ติดพื้นดิน แต่ของมานิกลุ่มนี้ยกพื้น
.

ความเหมือนที่แตกต่างของการเลือกทำเลที่ใกล้แหล่งอาหารระหว่างจาไฮเทือกเขาสันกะลาคีรีกับมานิเทือกเขาบรรทัดกลุ่มนี้ต่างกันในสายตาฉันที่ใช้การคาดเดาเป็นหลัก ตรงที่จาไฮจะหาทำเลใกล้อาหารในป่าหรือบางครั้งใกล้หมู่บ้านชายป่าที่สามารถลงมารับจ้างได้ง่าย แต่ดูเหมือนว่ามานิกลุ่มนี้เลือกทำเลใกล้ถนนที่คนจากภายนอกเข้ามาได้สะดวก
.
นอกจากพูดคุยกันบ้างเล็กน้อย ดูเหมือนว่ามานิกลุ่มนี้ให้น้ำหนักความสนใจกับสิ่งของที่ชาวคณะมาเยี่ยมเยือนพกพามามากกว่าสิ่งอื่น
.
มานิเทือกเขาบรรทัดทั้งสามที่สามกลุ่มที่ฉันไปนั้น ฉันเห็น Gaps ในหลาย ๆ เรื่องที่เป็นความแตกต่างทางสังคมและโอกาส ทั้งในระหว่างชาติพันธุ์ชายขอบเหล่านี้กับสังคมเมืองและในระหว่างกลุ่มแต่ละกลุ่มของมานิเอง
.
ฉันแว่วเสียงของเพื่อนนักมานุษวิทยาที่ไปด้วยกันคนหนึ่ง รำพึงว่า "ในขณะที่เราช่วยเหลือให้เขาปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เราก็กำลังทำลายวิถีวัฒนธรรมของเขาไปด้วยพร้อมกัน"
.
ฉันไม่รู้ว่าชะตากรรมหรือชะตาชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบของชายขอบประเทศเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ร่าง พรบ.ชาติพันธุ์จะนำพวกเขาไปทางไหน ในฐานะที่ฉันมองว่าเขาคือเพื่อนร่วมโลก ฉันรู้สึกเศร้าใจและกังวล
.
ฉันคงจบบันทึกเกี่ยวกับมานิที่โพสต์นี้ การไปเห็นแบบฉาบฉวยในเวลาสามวัน ไม่ทำให้ฉันเห็นอะไรที่จริงจังและลึกกว่านี้ได้เลย ฉันไม่ใช่คนที่ฉลาดและเก่งกาจในเรื่องนี้
.
ปล.ไม่รู้ว่าทำไม ฉันเห็นมานิกลุ่มนี้ ฉันกลับไปนึกถึง Homeless ในเมืองใหญ่

Comments